เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
[608] ถ้าพระองค์จะเสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปในทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อที่เดินไปตามทาง1
(พระเจ้าวิเทหะถูกมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มมากเกินไป จึงทรงกริ้วแล้ว
ตรัสถามว่า)
[609] พวกเรานั่นแหละผู้กล่าวถึงประโยชน์อันสำคัญกับท่าน
กลับเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย
ท่านเล่าเติบโตมาด้วยหางไถ2
จะรู้ประโยชน์เหมือนคนอื่น ๆ ได้ละหรือ
(พระเจ้าวิเทหะด่าบริภาษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ เมื่อจะขับไล่ จึงตรัสว่า)
[610] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[611] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตก็หลีกไปจากราชสำนัก
ของพระเจ้าวิเทหะ ต่อมา ก็ได้เรียกนกแขกเต้าตัวฉลาด
ที่ชื่อมาธุระ ที่เป็นทูตมาสั่งว่า
[612] มานี่เถิด สหายผู้มีขนปีกสีเขียว
เจ้าจงทำการขวนขวายช่วยเหลือเรา
มีนางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาละ

เชิงอรรถ :
1 เนื้อที่เดินไปตามทาง หมายถึงฝูงเนื้อป่าได้ยินเสียงนางเนื้อต่อที่นายพรานฝึกไว้ดีแล้วร้องขึ้น ก็จะเดิน
เข้าไปหาด้วยความกำหนัด จะถูกนายพรานแทงถึงแก่ความตาย (ขุ.ชา.อ. 9/608/340)
2 เติบโตมาด้วยหางไถ หมายถึงมโหสธบัณฑิตบุตรของคหบดีจับหางไถเจริญเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็ก
(บุตรชาวนาจะรู้เรื่องอะไร) (ขุ.ชา.อ. 9/609/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :277 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
[613] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด
มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา
และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น
[614] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว
รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา
[615] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น
ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา
ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า
[616] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ
แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ
เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ
[617] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย
ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ
[618] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา
สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย
(นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[619] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี
ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม
โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง
(นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า)
[620] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า
นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม
ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่
[621] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ
ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง 2 ก็จะได้อยู่ร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :278 }